แหล่งความรู้

หกล้ม ในผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องเล็ก

หกล้ม ในผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องเล็ก
การหกล้มในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นง่ายและใกล้ตัวมาก ด้วยร่างกายของผู้สูงอายุเริ่มเสื่อมสภาพลง ไม่ว่าจะเป็น สมอง สายตา กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นเรื่องของ “กระดูกหัก” เนื่องจากคุณภาพกระดูกของผู้สูงอายุนั้นแย่ลง ขาดความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกข้อสะโพก และกระดูกข้อมือ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมในเวลาที่รวดเร็ว อาจต้องพบกับภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย และสุดท้ายอาจอันตรายถึงชีวิตได้

  • เมื่อผู้สูงอายุหกล้ม ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้เกิดภาะวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้
  • ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่หกล้มเอง เพราะความไม่รู้และไม่ชำนาญอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้

กระดูกสะโพกหัก
กระดูกสะโพกหัก พบบ่อยในอุบัติเหตุผู้สูงอายุหกล้ม โดยจะแสดงอาการปวดบริเวณสะโพก จนไม่สามารถลงน้ำหนักได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีรอยช้ำที่บริเวณต้นขา และปลายขาผิดรูป เช่น ขาสั้นลง และปลายเท้าหมุนออกด้านนอก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม

วิธีการรักษากระดูกสะโพกหัก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งกระดูกหัก และการเคลื่อนของกระดูกที่หัก
กระดูกคอสะโพกหัก (Femoral neck fracture)
หากกระดูกไม่เคลื่อนที่ สามารถให้การรักษาด้วยการใส่สกรูเพื่อยึดกระดูก
หากกระดูกมีการเคลื่อนจากตำแหน่งทั้งหมด จะทำการรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเทียม (Joint replacement)
กระดูกข้อสะโพกส่วนบนหัก (Intertrochanteric fracture) ตำแหน่งนี้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดใส่เหล็กยึดตรึงกระดูกภายใน
การรักษากระดูกสะโพกหักนั้น จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว หากต้องผ่าตัด (ผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในการผ่าตัด) ควรทำการผ่าตัดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการทำกายภาพบำบัดการฝึกเดินและทรงตัว เพื่อฟื้นสภาพร่างกายให้ได้มากและเร็วที่สุด

สะโพกหัก ติดเองได้หรือไม่
หากผู้สูงอายุสะโพกหักแล้วละเลยไม่รับการรักษา นอกจากจะทำให้กระดูกที่หักนั้นติดกันแบบผิดรูป หรือกระดูกอาจไม่สามารถติดกันเหมือนเดิมได้อีก อาจส่งผลเสียให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน เช่น แผลกดทับ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินหายใจ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำใหญ่ที่ขา ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ตามมาอย่างไม่น่าเกิดขึ้น

ป้องกันผู้สูงอายุหกล้ม
ตรวจดูความเสี่ยงหกล้มของผู้สูงอายุ เช่น ตาพร่ามัวที่อาจเกิดจากการเป็นต้อกระจก วิงเวียนศีรษะจากโรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน หรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง แล้วหาทางแก้หรือพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงหกล้มเหล่านั้น
ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ปรับปรุงแสงสว่างภายในบ้าน พื้นมีความลื่น หรือขั้นบันได ควรได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
ล้มแค่ไหน ต้องรีบไปหาหมอ
ผู้สูงอายุไม่สามารถลุกขึ้นยืน หรือเกิดอาการเจ็บจนลงน้ำหนักไม่ได้
เกิดอาการปวด บวม ผิดรูป อย่างรวดเร็ว
เดินไม่ปกติ หรือเดินกะเผลก ไม่สามารถลงน้ำหนักได้
วิธีช่วยเหลือเบื้องต้น
ควรให้ผู้สูงอายุที่หกล้มนอนราบนิ่งๆ อยู่กับที่
รีบโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล เพื่อได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง
สำคัญที่สุดคือไม่ควรอุ้มหรือขยับตัวผู้สูงอายุที่หกล้มเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้

การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคอยระมัดระวังป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุอยู่เสมอ ค้นหาความเสี่ยงของการหกล้ม ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เพราะผลของการหกล้มนั้นอันตรายกว่าที่คิด นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่ค่อนข้างรุนแรงและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ใส่ความเห็น