แหล่งความรู้

หมากรุกฝึกสมอง ลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์

    “ภาวะสมองเสื่อม” เป็นโรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มอาการจากความผิดปกติในการทำงานของสมองด้านความคิดและสติปัญญา ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง และความผิดปกติจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ส่งผลให้สมองทำหน้าที่ผิดปกติ และผลจากภาวะสมองเสื่อมทำให้มีอาการความจำเสื่อมเป็นอาการเด่น มีอาการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม บุคลิกภาพ และอารมณ์ โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกิจกรรม“การบริหารสมอง” อย่างการเล่นหมากรุก ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
หมากรุก กิจกรรมฝึกบริหารสมอง
    หมากรุก เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่มีผู้เล่นจำนวนมาก นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกที่ ซึ่งเป็นกีฬาที่ต้องใช้ไหวพริบ สมาธิ และความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ เพราะคนที่เล่นหมากรุกจะไม่วางแผนด้านเดียว จะต้องระมัดระวังการเดินของฝ่ายตรงข้ามก่อนที่จะเดินหมากแต่ละตัวด้วย ดังนั้น การเดินหมากแต่ละครั้งต้องคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะการเดินพลาดเพียง 1 ครั้ง อาจทำให้พ่ายแพ้ได้ ด้วยเหตุนี้ การเล่นหมากรุกถือเป็นกีฬาบริหารสมองชนิดหนึ่ง หากฝึกบริหารสมองอย่างสม่ำเสมอสามารถป้องกันสมองเสื่อมได้

    6 ประโยชน์ แนะนำลูกหลานเล่นหมากรุกกับผู้สูงวัย
1.ได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว สร้างความผูกพัน และความเข้าใจที่ดีต่อกัน
2.ช่วยฝึกสมอง ช่วยในเรื่องของความจำ ป้องกันโรคทางสมอง
3.ช่วยคลายเครียด ทำให้ไม่คิดฟุ้งซ่าน
4.คลายเหงา ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า
5.ช่วยฝึกสมาธิ ทำให้ใจเย็น คิดอย่างเป็นระบบ
6. รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และการปล่อยวาง จากเกมหมากรุกที่เล่น
   กรณีที่บางครอบครัวเล่นหมากรุกไม่เป็น อาจเลือกกิจกรรมอื่นที่คล้ายๆ กัน เช่น หมากล้อม หมากฮอส หมากข้าม หรือหมากอื่นๆ เล่นไพ่ เข้ามาเป็นหนึ่งกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานกันได้ทั้งครอบครัวก็ได้เช่นกัน เพราะช่วยพัฒนาสมอง สมาธิ ความนึกคิด และใช้เวลาว่างที่เกิดประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ หรือทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น แปรงฟันด้วยมือซ้าย
   นอกจากหมั่นบริหารสมองแล้ว เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุต้องใส่ใจเรื่องของสุขภาพเป็นพิเศษด้วย เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยแต่ละชนิด ผู้ดูแล หรือคนในครอบครัวควรให้ความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเรื่องของสุขภาพร่างกาย อาหารที่มีโภชนาการสูง งดเหล้า และบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากมีโรคประจำตัวเดิมอยู่ต้องรับประทานยา และติดตามผลตามแผนการรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มมีอาการหลงลืมมากผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจ และรักษาทันที

แนวทางป้องกัน “ภาวะสมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุ
   ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป พบในหญิงมากกว่าชาย เป็นการสูญเสียความสามารถทางสมอง โดยเฉพาะความจำระยะสั้นที่เสียไป รวมถึงความเฉลียวฉลาด การใช้ภาษา เหตุผล การคิด การตัดสินใจ อาจมีอาการทางจิตร่วมด้วย ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยสูงอายุ คือการดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ ด้วยวิธีดังนี้
1.ไม่ควรอยู่กับบ้านเฉยๆ ทำกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น .เล่นกีฬาที่ใช้การฝึกสมอง เช่น หมากรุก หมากฮอสช่วยให้ใจสงบ มีสมาธิ เป็นการปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลและกระตุ้นสมองให้คิดวางแผน ตัดสินใจ ทำให้สมองแข็งแรง ทำงานอย่างสมดุล
2.ร่วมกิจกรรมทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเข้าร่วมกิจกรรมสังคม พบปะ พูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ เช่น อาสาสมัครชมรมต่างๆ ไปวัด เยี่ยมญาติพี่น้องเพื่อทำจิตใจให้แจ่มใส อีกทั้ง เป็นการฝึกสมองให้มีการใช้ความคิดในแต่ละกิจกรรมที่เข้าร่วม
   3.ทำกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหว มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น ออกกำลังกาย แอโรบิค โยคะ เดินในที่อากาศโปร่ง เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน รำมวยจีน ว่ายน้ำ อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง จะช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้นอกเหนือจากงานประจำ หากผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำตลอดเวลาจะทำให้เกิดการเสื่อมถอยของสมองน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีกิจกรรมทำอย่างมาก

ใส่ความเห็น