แหล่งความรู้

เรียนรู้และป้องกันโรคกรดไหลย้อนในผู้สูงอายุ

โรคกรดไหลย้อน จะพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป มากกว่าวัยหนุ่มสาว โดยมักจะเกิดอาการหลังรับประทานอาหาร การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย โดยจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แล้วลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ มีอาการเรอเปรี้ยว นอกจากนี้ยังมีผลทำให้มีอาการ ไอ ระคายคอ เสียงแหบ โรคหอบหืดกำเริบ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคกรดไหลย้อนสรุปได้ ดังนี้
1. จากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ และการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
2. จากภาวะกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารหย่อนตัวลง ทำให้น้ำย่อยหรือกรดในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารได้
3. โรคเรื้อรังที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคของกะบังลม โรคอ้วน เป็นต้น

โรคกลดไหลย้อนมักมีอาการเรื้อรัง สร้างความรำคาญใจ หากปล่อยให้มีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน กรดในกระเพาะอาหารที่ล้นออกมา จะทำลายเซลล์เยื่อบุหลอดอาหารและอาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง สาเหตุของโรคมะเร็งในหลอดอาหารส่วนปลาย แต่อย่างเพิ่งกังวลเพราะเราสามารถดูแลตนเองจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งการรักษา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1. ไม่นั่งเอนหลังหรือนอน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
2. รับประทานอาหารตรงเวลา โดยเลือกอาหารที่ย่อยง่ายไม่เหนียวหรือแข็ง ไม่ควรรับประทานจนแน่นท้อง ซึ่งจะส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารเอ่อล้นออกมา
3. เน้นรับประทานอาหารมื้อกลางวัน สำหรับมื้อเย็นรับประทานน้อยๆ และเลื่อนเวลามื้อเย็นให้เร็วขึ้น เพื่อให้ห่างจากเวลาเข้านอน
4. หลังรับประทานอาหารไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องก้มตัวลง เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน
5. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นการเกิดอาการ เช่น อาหารรสจัด น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต เป็นต้น
6. ควรลดน้ำหนักและบริหารร่างกายเพื่อลดไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง เนื่องจากไขมันที่สะสมบริเวณหน้าท้องจะไปเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้กรดเกิดการไหลย้อนได้
7. ควบคุมการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขยายหลอดลม ยาแก้ปวดประเภทคลายกล้ามเนื้อ หรือการรับฮอร์โมน
8. ลดความเครียด เวลาเครียดหรือโกรธ จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ
9. ไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป
10. เวลานอนควรหนุนหมอนสูง หรือหนุนผ้าบริเวณเหนือเอวให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อน
11. งดการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การรักษาและบรรเทาอาการโรคกรดไหลย้อน
1. รับประทานยาที่มีสรรพคุณลดกรด ช่วยให้อาการบรรเทาลง ในกรณีฉุกเฉินไม่มียาลดกรดอาจดื่มน้ำเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ทั้งนี้ เป็นการรักษาเพียงชั่วคราวมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก เพราะยังไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ
2. ไปพบแพทย์เพื่อสืบประวัติ หาสาเหตุ ประเมินระดับของอาการและวิธีการรักษา ในรายที่เป็นเรื้อรังอาจจะใช้เครื่องตรวจกรดไหลย้อนที่มีความแม่นยำ หากพบว่ามีกรดหรือด่างไหลย้อนขึ้นมาเกินระดับจริง อาจใช้การผ่าตัดซึ่งไม่ยุ่งยากเนื่องจากสมัยนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยการส่องกล้องเข้าไปเพื่อกระชับหูรูดให้แข็งแรง สะดวก ปลอดภัย หนึ่งถึงสองวันก็สามารถกลับบ้านได้

โรคกรดไหลย้อนแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ในผู้สูงอายุควรให้ความสำคัญ เริ่มต้นจากวันนี้ ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังซึ่งอาจจะลุกลามกลายเป็นโรคที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

ใส่ความเห็น