แหล่งความรู้

บ้านที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ ควรมี “เครื่องวัดความดันโลหิต” ติดไว้ที่บ้าน!

ปัจจุบัน “ความดันโลหิตสูง”  เป็นโรคเรื้อรังอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยเป็นอันดับ ต้น ๆ และหากคุณมีค่าความดันโลหิตที่สูงเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเส้นเลือดโป่งพอง เส้นเลือดในสมองแตก และยังส่งผลไปถึงอาการที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันอย่าง โรคไตเรื้อรัง หรืออาการจอตาเสื่อมได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า เครื่องวัดความดันโลหิต หรือที่วัดความดัน เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ทุกครัวเรือนควรมีติดตั้งไว้

เพราะการวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะต้องทำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากในครอบครัวของคุณมีผู้สูงอายุอาศัยร่วมอยู่ด้วย คุณหมอมักจะสั่งให้ผู้ป่วยซื้อเครื่องวัดความดันติดบ้านไว้ และจดค่าความดันในทุกๆ เช้า เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม

ดังนั้น วันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเจ้าอุปกรณ์ชิ้นสำคัญ ที่ควรมีติดบ้านเอาไว้ ไปดูกันค่ะว่าเครื่องมือชิ้นนี้ที่เรียกว่าเครื่องวัดความดัน มีประโยชน์ควรค่าแก่การซื้อหามาเก็บไว้หรือไม่

“เครื่องวัดความดันโลหิต” จำเป็นแค่ไหน?

จากการรวบรวมข้อมูลที่ทาง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำข้อมูลเผยแพร่อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เกี่ยวกับเรื่องของ “เครื่องวัดความดันโลหิต” เอาไว้ว่า เครื่องวัดความดัน หรือเครื่องวัดความดันโลหิต ซึ่งมีหน้าที่สามารถวัดระดับค่าความดันต่าง ๆ ภายในร่างกายเรานั่นเอง โดยที่ค่าความดันเหล่านี้เราสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของสุขภาพต่าง ๆ ของเราได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักจะต้องตรวจเช็คค่าความดันโลหิตอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ ความดันโลหิตเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ และแรงต้านทานของหลอดเลือด ความดันจะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับท่าทาง ความเครียด การออกกำลังกาย และการพักผ่อนนอนหลับ ซึ่งค่าความดันปกติของคนเราคือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากวัดได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตร แสดงว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพาต โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ดังนั้นการป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของทุกท่านและไม่มีอาการเตือน ดังนั้นการจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่องAdvertisement

การวัดความดันโลหิตด้วยตัวเอง

การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองที่บ้าน หรือ Home Blood Pressure Monitoring (HBPM) เป็นการวัดฯ ด้วยตัวผู้ป่วยเอง หรือ บุคคลในครอบครัวที่ได้รับการแนะนำวิธีและเทคนิคในการวัดความดันโลหิตมาอย่างถูกวิธี โดยการวัดความดัน ควรทำในห้องที่เงียบสงบ ผู้ป่วยควรอยู่ในท่านั่ง ที่มีการรองหลังและแขน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 นาทีก่อนทำการวัดความดัน ควรวัดความดัน 2 ครั้ง ในระยะห่าง 1 ถึง 2 นาที และทำการบันทึกข้อมูลในสมุดจดทันทีที่ทำการวัดเสร็จในแต่ละรอบ การวัดความดันโลหิต ควรทำทุกวัน ติดกันอย่างน้อย 3 ถึง 4 วัน และควรวัดสม่ำเสมอ ที่ระยะทุกๆ 7 วัน ในเวลากลางวัน และเวลากลางคืน

ทำความรู้จักเครื่องวัดความดันโลหิตแต่ละประเภท

เครื่องวัดความดันโลหิตนั้นมีหลายชนิด และหลายแบบด้วยกัน ผู้สูงวัยควรศึกษาถึงลักษณะการทำงานของเครื่องวัดความดันแต่ละชนิด เพื่อเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

เครื่องวัดความดันชนิดขดลวด

เป็นเครื่องมือที่ราคาไม่แพง น้ำหนักเบา และพกพาสะดวกมากกว่าชนิดปรอท เครื่องวัดชนิดนี้สามารถวางตำแหน่งไหนก็ได้ บางรุ่น มีหูฟังอยู่ในสายพันแขน ข้อด้อยของเครื่องมือนี้คือ เครื่องมือมีกลไกซับซ้อน ต้องปรับเครื่องมือโดยเทียบกับเครื่องมือชนิดปรอทอย่างน้อยปีละครั้งหรือเมื่อมีการทำตก หากผู้ป่วยใช้ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เครื่องชำรุด

และต้องส่งไปซ่อม ผู้ที่สายตาไม่ดีหรือได้ยินไม่ชัดหรือไม่สามารถบีบลมจะทำให้การวัดไม่แม่น

เครื่องวัดความดันชนิดปรอท

เป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับวัดความดันโลหิต วัดง่ายไม่ต้องมีการปรับแต่ง ใช้หลักการแรงโน้มถ่วงของโลก ให้ผลการวัดที่แม่นยำ เครื่องมือประกอบด้วยแท่งแก้วที่มีสารปรอทอยู่ภายใน บางท่านไม่แนะนำให้ใช้ตามบ้านเพราะกลัวอันตรายจากสารปรอท แต่รุ่นที่ออกแบบสำหรับใช้ตามบ้านจะมีความปลอดภัยสูง ข้อเสียของเครื่องมือนี้คือ มีขนาดใหญ่พกพาลำบาก เครื่องจะต้องตั้งตรงบนพื้นเรียบ แท่งปรอทจะต้องอยู่ระดับสายตาจึงจะอ่านค่าได้แม่นยำ ผู้ที่สายตาไม่ดีหรือได้ยินไม่ชัดหรือไม่สามารถบีบลมจะทำให้การวัดไม่แม่น หากมีการรั่วอาจจะเกิดพิษจากสารปรอท เครื่องวัดความดันชนิดขดลวด (Aneroid equipment)Advertisement

เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล

เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล เป็นเครื่องมือที่ไม่ต้องมีหูฟังหรือลูกยางสำหรับบีบลมทำให้สะดวกในการใช้งาน สามารถพกพาได้ง่าย ข้อผิดพลาดน้อยเหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ สายตาและการได้ยินไม่ดี แสดงผลเป็นตัวเลขที่หน้าจอพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจ บางชนิดสามารถพิมพ์ผลค่าที่วัด สายพันมีทั้งชนิดพันที่แขนและข้อมือ ข้อด้อยคือ เครื่องมือประกอบด้วยกลไกซับซ้อน แตกหักง่าย ต้องมีการตรวจสอบความแม่นยำของการวัดเมื่อเทียบกับเครื่องชนิดปรอท หากร่างกายเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดการผิดพลาดของการวัด ราคาค่อนข้างแพง และต้องใช้ไฟฟ้าAdvertisement

ปัจจุบันเครื่องวัดความดันโลหิต จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากปรอทมีพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมติจากที่ประชุมมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการสารปรอท ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ปรอทภายในปี 2567 เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดปรอทจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาตรการนี้ด้วย

การเลือกซื้อเครื่องวัดความดันสำหรับใช้ที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุ

1.หากผู้สูงอายุไม่ใช่บุคลาการทางการแพทย์หรือไม่มีลูกหลานคอยช่วยเหลือในการใช้เครื่องวัด เครื่องวัดแบบดิจิตอล อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากใช้งานได้สะดวก

2.เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล แบบวัดที่ต้นแขน และ แบบวัดที่ข้อมือ ควรเลือกแบบไหนดี ซึ่งเครื่องวัดความดันที่ต้นแขน จะได้ค่าความดันโลหิตที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด เนื่องจากตำแหน่งอยู่ใกล้หัวใจ และอยู่ระดับเดียวกับหัวใจมากที่สุด สำหรับเครื่องวัดความดันแบบข้อมือจะให้ความสะดวกเพราะจะมีระบบสูบลมและคลายลมอัตโนมัติ พันสายรัดที่ข้อมือได้ง่าย และที่สำคัญคือพกพาสะดวก สามารถนำมาใช้ได้ทันที

โดยมาตรฐานแล้วการวัดความดันจะวัดที่เหนือข้อพับเป็นหลัก แต่เครื่องวัดความดันที่ข้อมือก็จะมีการเทียบให้ได้ค่าใกล้เคียง ซึ่งยังไม่นับเป็นมาตรฐาน ทั้งนี้ไม่ได้สรุปว่าการวัดที่ต้นแขนจะเม่นยำกว่า แต่เป็นมาตรฐานกว่าเท่านั้นเอง

3.เลือกเครื่องวัดความดันโลหิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ซึ่งปกติเครื่องวัดความดันโลหิตที่ได้มาตรฐานจะมีสัญลักษณ์เช่น CE (European Conformity:CE) หรือเครื่องหมาย UL (Underwriters’ Laboratories :UL) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเครื่องมือนั้นได้รับการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อบังคับอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป หรือตรวจสอบได้จากเครื่องหมาย มอก.มาตรฐานประเทศไทย เป็นต้น

4.งบประมาณและจำนวนสมาชิกที่ต้องใช้เครื่องวัดความดัน หากผู้สูงอายุมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณและใช้เครื่องวัดแค่คนเดียว  แนะนำให้เลือกใช้เครื่องวัดความดันที่ได้มาตรฐานก็เพียงพอต่อการใช้งาน ไม่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันเสริมมากมายนัก หากมีงบประมาณแบบไม่อั้นก็ควรเลือกใช้แบบหรือรุ่นที่มีฟังก์ชัน เช่นสามารถบันทึกผลได้ ระบุวันและเวลาได้ หรือมีสัญญาณเตือนเมื่อพันแขนไม่ถูกต้อง เป็นต้น

(ข้อมูลจาก: http://www.pharm.chula.ac.th/physiopharm/content/activity_%20lh/4.3.html )

คำแนะนำในการใช้เครื่องวัดความดันโลหิต

– ผู้สูงอายุไม่ควรวัดความดันทันทีหลังรับประทานอาหารมื้อหลัก ควรห่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

– ผู้สูงอายุไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ก่อนทำการวัดความดัน

– ไม่ควรวัดความดันขณะที่ร่างกายเหนื่อย หมดแรง อ่อนเพลีย หรือมีอารมณ์เครียด

– ในกรณีที่ใช้เครื่องวัดความดันที่ข้อมือ ให้วัดในท่านั่ง วางข้อมือให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ หากใช้เครื่องวัดความดันที่ต้นแขน ให้วัดในท่านั่ง วางแขน และข้อศอกบนโต๊ะ จัดระดับให้ผ้าพันต้นแขน หรือผ้าพันข้อมืออยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

อย่างไรก็ตาม เครื่องวัดความดันโลหิตคืออุปกรณ์ที่จำเป็นที่ทุกบ้านควรต้องมี โดยเราสามารถเลือกซื้อหาตามความเหมาะสม และความต้องการใช้อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้น ที่สำคัญควรเลือกที่ใช้งานง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และถ้าจะให้ดีควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพราะหากเกิดมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รู้ทันท่วงที เพิ่มโอกาสในการรักษา ช่วยให้หายเป็นปกติเร็วยิ่งขึ้นด้วย

ใส่ความเห็น