แหล่งความรู้

วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ของทุกปี

วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ของทุกปี

วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ของทุกปี

เป็นที่ทราบกันดีว่า วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปี มีความหมายและความสำคัญอย่างมากกับนักกีฬาชาวไทย เพราะเป็น วันกีฬาแห่งชาติ และเป็นวันที่คนไทยไม่มีวันลืม วันกีฬาแห่งชาติ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ติดตามอ่านด้านล่างได้เลยคะ

ประวัติความเป็นมาของวันกีฬาแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นตัวแทนของนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมกางแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ และทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศไทย นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดปรานมากเช่นกัน ในหอประชุมวังจิตรลดาฯ ได้ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ส่วนมากพระองค์จะทรงแบดมินตันในตอนเย็นและวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด

ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลครั้งที่ 29 ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมประชุมอีก 87 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกสากล คือ “อิสรยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด” (ทอง) แด่องค์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ณ ศาลาดุสิตาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง สมควรที่นักกีฬาและประชาชนชาวไทยควรที่จะเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท อันจะเป็นโอกาสให้สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติและวงศ์ตระกูล

เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าความสำคัญของการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงได้มีมตินำเสนอคณะรัฐมนตรีลงความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 กำหนดให้วันที่ 16 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวัน “วันกีฬาแห่งชาติ”

ประวัติกีฬาแห่งชาติ

“กีฬาแห่งชาติ” ได้วิวัฒนาการมาจากกีฬาเขต ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2507 โดยการแข่งขัน กีฬาเขต ได้ริเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการ ก่อตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้วางโครงการในอันที่จะขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วราชอาณาจักรด้วยการ จัดการแข่งขันระหว่างจังหวัดภายในภาคต่างๆ ของประเทศขึ้นพร้อมกัน แต่โดยที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการ แข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนธันวาคม 2509 ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้เวลาเตรียมการประมาณ 3-4 ปี และองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยต้องรับภาระในด้านธุรการของงานครั้งนั้น จึงทำให้โครงการจัดการแข่งขันกีฬาเขต ต้องเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนดจนกระทั่งเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 จึงเริ่มดำเนินการใหม่ความคิดในอันที่จะรวบรวมกีฬาทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วถึงด้วยวิธีการ จัดการแข่งขันเป็นระดับจังหวัดและภาคนี้ ได้ทวีมากขึ้นเมื่อสิ้นการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 อันเป็นระยะที่ประชาชนได้ให้ความสนใจแก่การกีฬาอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว คณะกรรมการองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงได้หยิบยกโครงการนี้ ขึ้นมาพิจารณาใหม่อย่างจริงจัง และในเดือนมีนาคม พ.ศ.2510 ได้มีมติยืนยันที่จะจัดการแข่งขันกีฬาภาคขึ้น เป็นงานประจำปีกำหนดวันที่ 9 ธันวาคม อันถือได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การกีฬาของไทย โดยเป็นวันที่เปิดการแข่งขันเอเชี่ยเกมส์ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2509 ในขึ้นปฏิบัติการได้มีความเห็นว่าเพื่อเป็นการประหยัด และเริ่มต้น ควรจัดการแข่งขันที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย 4-5 ประเภทก่อน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน ลอนเทนนิส และได้มีการวางแผนในรายละเอียดรวมทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ขึ้นพร้อมที่จะปฏิบัติการได้ในเดือนธันวาคม 2510 ตามแผนการขั้นแรกนี้ องค์การฯ ได้จัดกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงขึ้นในภาคสมมติ 5 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และจะได้ขอให้จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคหนึ่งเลือกจังหวัดศูนย์กลางหรือจังหวัดหัวหน้าภาคกันเอง จังหวัดหัวหน้าภาคนี้ จะเป็นตัวแทนจังหวัดอื่นๆ จัดการแข่งขันกีฬาระหว่างจังหวัดภายในภาค เพื่อให้ได้นักกีฬาผู้แทนของภาคนี้ขึ้นไว้ องค์การฯ จะเป็นฝ่านนำนักกีฬาของภาคไปแข่งขันชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ ต่อไป

ประวัติไฟพระฤกษ์

สำนักพระราชวังจะนำพระแว่น “สุรยกานต์” ไปทอดไว้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่ละปี สำหรับพระราชพิธีจัดไฟขึ้นอยู่กับสถาวะอากาศ และเมื่อทรงประกอบพระราชพิธี ีจัดไฟเรียบร้อยแล้ว สำนักพระราชวังจะนำไฟพระฤกษ์ไปเก็บรักษาไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจะเลี้ยงไว้สำหรับใช้ในปีนั้น จนกระทั่งถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ของปีนั้น ไฟพระฤกษ์ที่เลี้ยงไว้นี้จะใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ รวมทั้งเชิญไปใช้ ้ในการพระราชทานเพลิงศพบุคคลที่สมควรด้วย ประเพณีการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ จะต้องขอพระราชทานไฟพระฤกษ ์จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาประกอบพิธีในวันเปิดและจุดในกระถางคบเพลิงตลอดการแข่งขัน ทั้งนี้คระกรรมการ จัดการแข่งขันจะต้องทำหนังสือติดต่อไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลถึงกำหนดนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ ให้คณะกรรมการเข้าเฝ้ารับพระราชทานไฟพระฤกษ์นี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดจาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วพระราชทานให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติในปีนั้น ๆ ไฟพระฤกษ์สำหรับการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510 ที่กรุงเทพมหานคร

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันกีฬาแห่งชาติ

1. เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย โดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2510 และทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันแรือใบประเภท โอ.เค.

2. เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเห็นความสำคัญและคุณค่าของการกีฬา การออกกำลังกาย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬามากยิ่งขึ้น

3. เพื่อชักจูงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นกีฬา และให้การสนับสนุนการกีฬา

4. เพื่อเป็นการจัดหาทุนในการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมกีฬาของชาติ

5. เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการคืนสู่เหย้าของนักกีฬาในอดีตและปัจจุบันงานวันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่เหล่านักกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ

กิจกรรมต่างๆ ในวันกีฬาแห่งชาติ

1. จัดการให้มีกิจกรรมเทิดพระเกียรติตามหน่วยสถานที่ราชการ โรงเรียน และชุมชนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
2. จัดให้มีการส่งเสริมการกีฬาไทย รวมทั้งนักกีฬา โคชผู้ฝึกสอน เพื่อให้กีฬาของไทยเจริญก้าวหน้า

อ้างอิง

วรนุช อุษณกร.ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,๒๕๔๓
วันสำคัญของไทย.ธนากิต.กรุงเทพฯ:ชมรมเด็ก,2541

ใส่ความเห็น