แหล่งความรู้

สังคมผู้สูงวัยของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะยากจน

     ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งสหประชาชาติระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งเมื่อไทยก้าวมาถึงจุดนี้แล้ว ประชากรหรือคนในประเทศต้องเริ่มคิดแล้วว่า เมื่อมีกลุ่มผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วนั่นเองค่ะ

   ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยกำลังเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาซึ่งความท้าทายในหลายมิติ ทั้งการลดลงของจำนวนแรงงานที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การออกแบบระบบบำเหน็จบำนาญ การสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังวัยเกษียณ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ล้วนแต่จำเป็นต้องมีมาตรการและการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านและทันท่วงที

   ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยในหลายประเทศเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าในอดีต โดยประเทศพัฒนาแล้วมักเข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลับใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัย (Aging society) ไปยังสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) น้อยกว่าโดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย สำหรับบริบทสังคมสูงวัยของประเทศไทย ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากสังคมสูงวัยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์เช่นกัน

   โดยไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรในวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ระดับรายได้ต่อหัวและระดับการศึกษาของไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่นที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ผลจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัยของไทยจึงอาจเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าในหลายประเทศ

อะไรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัย

   จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยและเริ่มออกมาตรการรับมือในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) และการให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้บรรจุประเด็นความท้าทายของภาวะสังคมสูงวัยของไทยในร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้อาจยังไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศไทยได้ทั้งหมดAdvertisement

   ถึงกระนั้นแม้ว่าจะมีการเตรียมแผนรองรับต่อเรื่องนี้มานานแค่ไหน แต่ปัญหาเรื่องของความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยไทยก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งถ้าจะให้ดีน่าจะต้องมีการศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายของต่างประเทศ หรือประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้มาปรับใช้กับสังคมผู้สูงวัยของไทยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตลาดแรงงานผู้สูงวัย ซึ่งอาจจะถอดบทเรียนประสบการณ์จากต่างประเทศในการรองรับความท้าทายจากสังคมสูงวัยเพื่อประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายในบริบทของประเทศไทย

   ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายของประเทศส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้ประชากรมีโอกาสในการทำงานมากขึ้นและนานขึ้น รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานและความเป็นอยู่ที่เอื้อต่อการทำงานของแรงงานในภาวะสังคมสูงวัย นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยังมีส่วน สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

รูปแบบการใช้จ่ายผู้สูงอายุต่างจากกลุ่มผู้บริโภควัยอื่น

   อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังได้มีการทำการวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยของบุคลากรที่กำหนดอุปทานแรงงานของไทย ผลการศึกษาพบว่า คนที่มีงานทำจะเป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาที่สูง และมีโอกาศที่จะทำงานนานกว่า และทำงานอยู่ในระบบได้มากกว่า อีกทั้งเรื่องของปัญหาสุขภาพมีผลต่อการตัดสินใจลดการทำงาน โดยเฉพาะแรงงานชายที่มีปัญหาสุขภาพ มีแนวโน้มจะลดชั่วโมงการทำงานมากกว่าแรงงานหญิง

   นอกจากนี้ เมื่อมีกลุ่มผู้สูงวัยในสังคมไทยมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคของภาคครัวเรือนในอนาคตมีโอกาสชะลอลงเนื่องจากอัตราการเติบโตของประชากรลดลง นอกจากนี้ รูปแบบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุมักแตกต่างจากรูปแบบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ ที่เห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเข้าสังคมหรือการทำงานลดลงในกลุ่มผู้สูงอายุขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะสังคมสูงวัยนี้จึงอาจส่งผลต่อโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศในระยะข้างหน้าอีกด้วย

แก้ปัญหาสังคมไทยสูงวัยเข้าสู่ภาวะยากจน

   อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันจำนวนแรงงานจะมีแนวโน้มลดลง แต่หลายประเทศได้มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อทดแทนแรงงานในภาวะที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและรักษาประสิทธิภาพการผลิตให้ใกล้เคียงเดิม เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม(Automation) ทดแทนแรงงานคน และยังช่วยแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างแรงงานที่เข้าสู่ตลาดกับความต้องการแรงงานของตลาด (Skill mismatch)

   โดยนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมในงานที่แรงงานไม่ถนัด งานที่ต้องอาศัยความแม่นยำหรือต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Acemoglu and Restrepo ซึ่งพบว่าประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน นอกจากนี้ยังพบว่าหลายประเทศได้เน้นนโยบายพัฒนาด้านแรงงานเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเองก็สมควรที่จะดำเนินรอยตามเฉกเช่นประเทศเหล่านี้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาสังคมไทยสูงวัยกับการเข้าสู่ภาวะยากจน นั่นเอง

ใส่ความเห็น